สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ
จัดโครงการ “ค่ายการยาง ม.อุบลฯ ครั้งที่ 7” Young Learners Rubber Camp
SONY DSC
สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดโครงการ “ค่ายการยาง ม.อุบลฯ ครั้งที่ 7” Young Learners Rubber Camp ระหว่างวันที่ 24 – 26 มกราคม 2563 อย่างเป็นทางการ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุระ วุฒิพรหม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดและกล่าวต้อนรับและ นางสาวโสภา อ่างคำหงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการค่ายการยาง ม.อุบลฯ ครั้งที่ 7 กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดโครงการค่ายครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์มากขึ้น และรู้จักการทำงานแบบวางแผนเป็นลำดับขั้นตอน การคิดวิเคราะห์ลำดับการทำงานได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนการทำงานร่วมกันเป็นทีมและมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาและเผยแพร่ต่อไป
SONY DSC
นางสาวโสภา อ่างคำหงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการค่ายการยาง ม.อุบลฯ ครั้งที่ 7 กล่าวว่า สำหรับการจัดโครงการค่ายครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก “มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์” ให้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ภายใต้หัวข้อ “Young Learners Rubber Camp” เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน โดย “ค่ายการยาง ม.อุบลฯ” ครั้งนี้ มีคณาจารย์สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ทุกชั้นปีเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมร่วมกัน และน้องๆ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 จากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่ได้ผ่านการคัดเลือกให้มาเข้าค่าย จำนวนทั้งสิ้น 55 คน รวมระยะเวลาในการเข้าค่าย 2 คืน 3 วัน ซึ่งน้อง ๆ นักเรียนทุกคนจะได้รับความรู้ทั้งด้านทฤษฏีและภาคปฏิบัติ จากการเข้าฐานกิจกรรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ กระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางจากน้ำยาง และยางแห้ง การวิเคราะห์และทดสอบสมบัติของวัสดุ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ตลอดจนกิจกรรมสร้างสรรค์ผลงานโดยอาศัยความรู้ตลอดการเข้าค่ายครั้งนี้ การเล่าการถ่ายทอดประสบการณ์ และการสร้างแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่เรียนจบและไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมยางและพอลิเมอร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้น้อง ๆ สนใจที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือในสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์เหมือนรุ่นพี่ในปัจจุบันต่อไป เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือเมื่อศึกษาจบแล้วสนใจเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเหมือนรุ่นพี่ที่ศึกษาจบไปแล้ว
ดร. ศันศนีย์ ศรีจันทร์ ประธานหลักสูตร วท.บ. เทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการค่ายการยาง ม.อุบลฯ ครั้งที่ 7 กล่าวว่า การจัด “โครงการค่ายการยาง ม.อุบลฯ ครั้งที่ 7” ที่ได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี สืบเนื่องจากโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่ให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม การหาประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง การเรียนรู้ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมเสริมหลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติทุกด้าน และมุ่งพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะในการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานความพอเพียง ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกรักท้องถิ่นและความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของนักศึกษาและบัณฑิตเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งทางสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำยางธรรมชาติมาแปรรูปให้มีมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้น จากการนำเยาวชนมาศึกษาเรียนรู้เพื่อต่อยอดทางความคิด ผ่านกระบวนการแบบ Coaching คือ ให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้ลงมือปฏิบัติจริงตั้งแต่กระบวนการคิด การวางแผนงาน จนกระทั้งได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยมีรุ่นพี่นักศึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี เป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำ และต้องขอขอบคุณ “มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์” ที่ให้การสนับสนุนหลักและอยู่เบื้องหลังการความสำเร็จของการจัดโครงการ “ค่ายการยาง ม.อุบลฯ ครั้งที่ 7” ครั้งนี้ และทางคณะผู้จัดโครงการก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จะสามารถนำทักษะที่ได้รับจากค่ายไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำรงชีวิตต่อไป
SONY DSC
SONY DSC