ข่าวเด่นนิวส์สยามออนไลน์##ป.ป.ส. เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติด รอบ 6 เดือน พร้อมวางมาตรการเร่งด่วนนโยบายกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

0
832

ป.ป.ส. เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติด รอบ 6 เดือน
พร้อมวางมาตรการเร่งด่วนนโยบายกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2562 เวลา 11.00 น. นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมด้วย นายวิชัย ไชยมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และคณะผู้บริหาร ป.ป.ส. แถลงผล การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด รอบ 6 เดือน ณ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ส. อาคาร 2 ชั้น 4 สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง) นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. แถลงผลการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตลอด 6 เดือน ที่ผ่านมา (ตุลาคม 2561-มีนาคม 2562) สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยนโยบายและยุทธศาสตร์ในการบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกมิติตามนโยบาย การสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เน้นปฏิบัติการเชิงรุกต่อเนื่องในด้านความมั่นคง การสกัดกั้นตามแนวชายแดน การปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่เสี่ยง และเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อลดความต้องการใช้ยาเสพติด รวมทั้ง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เน้นให้หน่วยงานความมั่นคง เฝ้าระวัง สกัดกั้นยาเสพติดชายแดนไม่ให้เข้าพื้นที่ชั้นใน เร่งใช้มาตรการเชิงรุกทางสังคมและกฎหมายในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะสถานบันเทิง สถานบริการและโรงงานอุตสาหกรรม และพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น เน้นมาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศเชิงรุก บูรณาการด้านการข่าวระหว่างประเทศ และแผนปฏิบัติการเฉพาะพื้นที่เป้าหมาย โดยการสั่งการทั้งหมดส่งผลต่อความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในภาพรวมของประเทศ ดังนี้

  • ด้านการต่างประเทศ เน้นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้การประชุมระดับรัฐมนตรี การประชุมไตรภาคีระดับรัฐมนตรี การประชุมทวิภาคี และดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน แผนปฏิบัติการความร่วมมือ 3 ประเทศ ส่งผลให้ประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนได้มากขึ้น ในส่วนของประเทศไทย จะมีปริมาณการจับกุมไอซ์ลดลง แต่การจับกุมยาบ้าและเฮโรอีน ยังคงมีปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับ 6 เดือนหลังในปี 2561 และจับกุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ยึดกาเฟอีน 19,854 กก. ลดการผลิตยาบ้าได้มากถึง 270-310 ล้านเม็ด ยึดกรดไฮโดรคลอริก 32,044 ลิตร ลดการผลิตไอซ์ได้ประมาณ 105,000 กก. นอกจากนี้ขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ ยังเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงยาเสพติดผ่านทางทะเลอันดามัน บริเวณเกาะสอง ประเทศเมียนมา ไปยังประเทศที่สาม ในห้วงที่ผ่านมาสามารถจับกุมของกลางยาเสพติดได้ประมาณ 5 ตัน และที่สำคัญสามารถทำลายแหล่งผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำใน 10 เมือง พร้อม ยึดของกลางอุปกรณ์การผลิตหัวตอก และสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ได้จำนวนมาก
  • ด้านการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน เร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จ บูรณาการร่วมกับภาคีแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พัฒนามาตรการสกัดกั้นอย่างเป็นระบบในพื้นที่ชายแดน วางระบบเครือข่ายสกัดกั้นช่องทางนำเข้าสำคัญทางภาคเหนือ จัดกำลังลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยงและเสริมกำลังในพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อน ตั้งจุดตรวจจุดสกัดตามเส้นทางในอำเภอชายแดน และเสริมเครื่องมือเทคโนโลยีด้านการสกัดกั้น สามารถสกัดกั้นยาบ้าได้ 197.42 ล้านเม็ด คิดเป็นร้อยละ 62 ของปริมาณยาบ้าที่จับยึดได้ทั่วประเทศ
  • ด้านการปราบปรามยาเสพติด มุ่งลดทอนการค้ายาเสพติดในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนและเขตเมือง โดยเน้นปฏิบัติการเชิงรุกทางสังคมและกฎหมายในพื้นที่เสี่ยง ปิดล้อมตรวจค้นและจับกุมนักค้ารายย่อยในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยใช้มาตรการทางทรัพย์สินอย่างเข้มงวด สามารถจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศได้ 165,688 คดี ผู้ต้องหา 177,067 ราย คดี 5 ข้อหาสำคัญ 38,711 คดี ผู้ต้องหา 45,337 ราย ของกลางยาบ้า 317.85 ล้านเม็ด กัญชา 9,271.75 กก. ไอซ์ 4,916.20 กก. โคเคน 10.30 กก. แจ้งข้อหาสมคบ 1,506 คดี ผู้ต้องหา 2,594 คน ยึดและอายัดทรัพย์สิน 1,019 คดี มูลค่าทรัพย์สิน 554.38 ล้านบาท

นอกจากนี้ดำเนินการลดความเดือดร้อนประชาชน จากการแจ้งเบาะแสยาเสพติดผ่านสายด่วน ป.ป.ส. 1386 จำนวน 9,037 เรื่อง ดำเนินการได้ 6,034 ราย คิดเป็นร้อยละ 66.76 รวมทั้งปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้าน/ชุมชน ภายใต้โครงการ “1386 ทั่วไทย ประชาชนปลอดภัยจากยาเสพติด” ในพื้นที่ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร 4,129 หมู่บ้านชุมชน จับผู้ต้องหา 2,021 คน นำเข้าบำบัด 1,589 คน ดำเนินคดี 432 คน ของกลางยาบ้า 2.15 ล้านเม็ด ไอซ์ 19.1 กก. ยึดทรัพย์มูลค่า 19.83 ล้านบาท

  • ด้านการบำบัดรักษายาเสพติด เน้นลดความต้องการใช้ยาเสพติด นำผู้เสพเข้าบำบัดอย่างเหมาะสม โดยเน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง (CBTx) ในการบำบัด ผู้ใช้ยาเสพติดสามารถเข้าบำบัดใกล้บ้าน รวมทั้งเน้นลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) โดยจัดตั้ง Harm Unit ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตลอดจนดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด เพื่อไม่ให้กลับมามีอาการทางจิตซ้ำ โดยทำ MOU ร่วมกับ 15 หน่วยงาน เพื่อลดอันตรายจากยาเสพติด และช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถนำผู้เสพเข้าบำบัด 80,101 ราย ให้บริการลดอันตรายจากยาเสพติด 11,031 ราย ติดตามผู้ผ่านการบำบัด 76,202 ราย ให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดที่ขอรับความช่วยเหลือ 2,413 ราย และให้ความช่วยเหลือ 220 ราย
  • ด้านการป้องกันยาเสพติด มุ่งลดความต้องการและป้องกันคนหน้าใหม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยดำเนินการทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัย รวม 6.13 ล้านคนทั่วประเทศ รวมทั้งสร้างการรับรู้เท่าทันปัญหายาเสพติดภายใต้โรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ 870 แห่ง และดำเนินการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวม 1.25 ล้านคน และทำ MOU ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 หน่วยงาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการแพร่ระบาดยาเสพติดให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมเข้าร่วม 45 แห่ง โรงงาน 5,604 แห่ง กลุ่มแรงงาน 476,537 คน และสร้างความเข้มแข็งภายในหมู่บ้าน/ชุมชน รวม 52,325 แห่ง ส่งผลให้มีการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหา ยาเสพติดภายในพื้นที่ของตนเองมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของกระทรวงมหาดไทย พบว่า หมู่บ้าน/ชุมชนที่ไม่มีปัญหายาเสพติดยังคงสภาพอยู่ได้ 57,477 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 70 ของหมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศ
  • ด้านการขับเคลื่อนนโยบายกัญชา ภายหลังมีการประกาศใช้ พรบ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้เร่งสร้างการรับรู้เรื่องกัญชาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่จะได้รับอนุญาตปลูกหรือผลิตกัญชาได้นั้น ต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ อย. และ 5 ปีแรก ต้องดำเนินการโดยรัฐหรือร่วมกับรัฐ และรัฐบาลยังได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยกัญชา เพื่อพัฒนาตำรับยาเพิ่มขึ้นจาก 16 ตำรับยา ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาโดยถูกกฎหมายและดำเนินการปลูกแล้ว 2 องค์กร คือ องค์การเภสัชกรรม ขณะนี้ใกล้จะออกดอกแล้ว ประมาณเดือนกรกฎาคม จะสามารถสกัดน้ำมันจากกัญชาที่ปลูกได้ ประมาณ 2,500 ขวดๆ ละ 5 ซีซี และมหาวิทยาลัยรังสิตที่ได้รับใบอนุญาตให้ปลูกแล้ว ทั้งนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตปลูก 1 องค์กร คือ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่จะนำกัญชามาใช้ประโยชน์เพื่อการรักษาอาการป่วยได้ นอกจากนี้การดำเนินการนโยบายด้านกัญชามี 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สาธารณสุข ทำหน้าที่ในการตรวจ จดแจ้ง และสำนักงาน ป.ป.ส. โดยหลังจากวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 สิ้นสุดการรับจดแจ้งการครอบครองกัญชา ได้วางมาตรการเร่งด่วนจัดหากัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคการผลิต การใช้การศึกษาวิจัย และพัฒนาตำรับยาให้สามารถนำไปใช้หรือศึกษาวิจัยได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม พิจารณาจัดหากัญชาอย่างเร่งด่วน เพื่อใช้ในระยะสั้นๆ

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่าแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปมุ่งเน้นการดำเนินงานลดความต้องการยาเสพติดในทุกมิติ และดำเนินงานตามแนวทางของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) โดยประสานผลักดันการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ การบูรณาการขับเคลื่อนทุกมาตรการอย่างเป็นระบบ สอดรับแผนตำบลมั่งคงปลอดภัยยาเสพติด ภายใต้แผนการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ระยะ 20 ปี เพื่อให้ประชาชน สังคม และประเทศไทยปลอดภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืน

ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย “สมัครใจบำบัด ไม่เสียประวัติ ไม่มีความผิด”

แจ้งเบาะแสยาเสพติด สายด่วน ป.ป.ส. โทร.1386

NO NEW FACE NEED…วงการนี้ไม่ต้องการคนหน้าใหม่ “คนรุ่นใหม่ คิดใหม่ ไม่เข้าวงการยาเสพติด”@จุ๊บแจง❤️

ธวัชชัย เฟื่องอนันต์ ภาพและข่าว

เสริม ศักดิ์สม รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here