ข่าวเด่นนิวส์สยามออนไลน์##ผู้อำนวยการ วช. บรรยายในการประชุมการเสวนาอารยธรรมเอเชีย” ที่ประเทศจีน(Conference on Dialogue of Asian Civilizations: CDAC)การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้อารยธรรมเอเชีย และประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน

0
441

ผู้อำนวยการ วช. บรรยายในการประชุม “การเสวนาอารยธรรมเอเชีย” ที่ประเทศจีน
(Conference on Dialogue of Asian Civilizations: CDAC)การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้อารยธรรมเอเชีย และประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน

​ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับเชิญให้บรรยายในการประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชีย (Conference on Dialogue of Asian Civilizations: CDAC) ในหัวข้อการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้อารยธรรมเอเชีย และประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน (Mutual exchanges of Asian civilizations and a community of shared future for mankind) ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นประธานในพิธีเปิดงานและกล่าวสุนทรพจน์ มีประมุข ผู้นำประเทศ และนักวิชาการ จาก ๔๗ ประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้บริหารองค์กรหลายพันคนจากประเทศต่าง ๆ องค์การยูเนสโก และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วม เป็นการประชุมใหญ่เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอารยธรรมของมนุษย์ และมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกัน รวมถึงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความเข้าใจร่วมกัน เพื่อปกป้องความหลากหลาย
ทางวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ฯ กล่าวในการประชุมดังกล่าวว่า วัฒนธรรมและอารยธรรมจากอินเดียและจีนมีบทบาทสำคัญและได้แลกเปลี่ยนกับภูมิภาคเอเชียมานานนับพันปีแล้ว สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทยมีการเรียนรู้และพัฒนาทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่จากทั้งอินเดียและจีน จากการเชื่อมโยงทางบกและทางทะเล ตัวอย่างอิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินเดียที่มีต่อไทย เช่น มหากาพย์อินเดีย เรื่องรามเกียรติ์ และศาสนาพุทธจากอินเดียซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างสูงในวัฒนธรรมและสังคมไทยในปัจจุบัน สำหรับจีนก็มีการแลกเปลี่ยน
ทางวัฒนธรรมอันใกล้ชิดกับไทยมาเป็นเวลานานเช่นกัน เช่น ในสมัยสุโขทัย การผลิตเครื่องลายคราม ซึ่งช่างฝีมือไทยได้เรียนรู้และพัฒนาเทคนิคการเคลือบลายครามจากจีนจนกลายมาเป็นเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก และต่อมาเป็น
เครื่องเบญจรงค์ในแบบของไทย รวมถึงบทบาทของชาวจีนโพ้นทะเลในการเป็นสะพานเชื่อมโยงมิตรภาพระหว่าง
สองประเทศ วัฒนธรรมจีนได้ผสมผสานกลมกลืนกับสังคมไทยดังจะเห็นได้จากการแพทย์แผนโบราณ ศิลปะการต่อสู้ วรรณกรรม (สามก๊ก) และอาหารหลากหลายประเภท (เป็ดปักกิ่ง, บะหมี่, ติ่มซำ, ซาลาเปา) และการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนกันอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและจีน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ฯ ยังได้กล่าวในฐานะแพทย์ว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนเอเชีย โดยเฉพาะการแพทย์แผนจีนและอินเดียถือว่ามีความสำคัญ โดยประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้แพทย์แผนโบราณจากทั้งสองประเทศ และมีการพัฒนาศาสตร์การแพทย์แผนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมผ่านการท่องเที่ยว ยังก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและช่วยขับเคลื่อนความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ จากการที่ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจีน อินเดีย และทั่วโลก ทำให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและนักท่องเที่ยวได้รับความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยและวิถีชีวิตของคนไทย

​เนื่องจากความสำคัญของการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอารยธรรม ซึ่งได้กลายเป็นสะพานสากลเพื่อยกระดับมิตรภาพระหว่างชุมชนโลก และเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น
ของมนุษยชาติ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) ซึ่งปัจจุบันไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนได้สะท้อนความคิดแบบเดียวกันนี้ในแผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ๒๕๕๙ – ๒๕๖๘ กระตุ้นให้ประชาชนมีความรู้สึกหวงแหนสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้ อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการใช้วัฒนธรรมเพื่อความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการสร้างอาชีพ ขณะเดียวกันกับที่ประเทศจีน
โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ได้ริเริ่มโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) เพื่อส่งเสริมความร่วมมืออย่างสันติทั่วโลกและการพัฒนาร่วมกัน โดยมีการเชื่อมโยงของประชาชนชนเป็นกลไกผลักดันที่สำคัญอย่างหนึ่ง
ในคำกล่าวเปิดงานการประชุมของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวถึง ความสำคัญของอารยธรรมเอเชียซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติและเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญในการพัฒนาของเอเชีย ซึ่งปัจจุบันจีนได้ริเริ่มโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อส่งเสริมและขยายการแลกเปลี่ยนด้านอารยธรรมในเอเชียและเติมความสมบูรณ์เพิ่มความหลากหลายให้กับอารยธรรมโลกด้วย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ขอให้ประเทศต่าง ๆ และวัฒนธรรมต่าง ๆ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ต่อกันเพื่อความมั่นคงของมนุษยศาสตร์และร่วมสร้างสรรค์ประชาคมเอเชียและประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน
นอกเหนือจากการประชุมในภาคผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร และการประชุมวิชาการแล้ว ยังมีกิจกรรม
ด้านวัฒนธรรมตลอดสัปดาห์กว่า ๑๐๐ รายการ โดยในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ได้มีการแสดงวัฒนธรรมนานาชาติ (Asian Cultural Carnival) จัดขึ้นยิ่งใหญ่ที่สนามกีฬาแห่งชาติจีน หรือสนามกีฬารังนก มีผู้แสดงกว่า ๘,๐๐๐ คน และมีผู้เข้าร่วม ๓๐,๐๐๐ คน

ขอบคุณภาพข่าว สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

เสริม ศักดิ์สม รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here