เกษตร ข่าวเด่นนิวส์สยามออนไลน์##พ่อเมืองอำเภอน้ำยืน ผนึกกำลังจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี ปลูกพืชสมุนไพร ต้านภัยโควิด และดำนาแปลงโคกหนองนาอาชวินโมเดล ต.เก่าขาม อ.น้ำยืน โดย admin - กรกฎาคม 20, 2021 0 1106 Share Facebook Twitter Google+ Pinterest WhatsApp พ่อเมืองอำเภอน้ำยืน ผนึกกำลัง จัดกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี ปลูกพืชสมุนไพร ต้านภัยโควิด และดำนา แปลงโคกหนองนา อาชวินโมเดล ต.เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 กค 64 นายวิทยา มุลน้อยสุ นายอำเภอน้ำยืน พร้อมด้วยนางสาวนันท์นภัส สุวรรณา พัฒนาการอำเภอน้ำยืน นางสาวกมลรัตน์ ปัตถาสาย สมาชิกสภาจังหวัดอุบลราชธานี เขตอำเภอน้ำยืน พร้อมด้วยส่วนราชการอำเภอน้ำยืน กำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลเก่าขาม นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (HLM) ระดับครัวเรือน ร่วมกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี โดยปลูกพืชสมุนไพร ผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ต้านภัยโควิด-19 รวมถึงร่วมลงแขกดำนา และ จับปลาขี้คราด เพื่อสืบสานประเพณี อันดีงาม ในการสร้างความรักสามัคคีในชุมชนท้องถิ่นของตน “สำหรับประเพณีลงแขกดำนา เป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมานาน ซึ่งปัจจุบันเกือบจะจางหายไป โดยพี่น้องประชาชนได้ร่วมกันลงแขกดำนา เพื่อสร้างความรักความสามัคคีปรองดอง ช่วยเหลือกัน และเป็นการส่งเสริมการมีน้ำใจที่เอื้ออาทรต่อกัน ถือเป็นอีกประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการดำเนินงานโคก หนอง นา ทำให้มีความมั่นคงของชีวิต มีความมั่นคงทางอาหาร พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น มีเครือข่ายคุณธรรม เกิดบุญเกิดทานอยู่ในแปลงโคกหนองนา ความอดทน ความเพียรก็ถือว่าเป็นคุณธรรม ความสามัคคีก็เกิดขึ้นในแปลงจากการเอามื้อสามัคคี ผลผลิตที่เกิดขึ้นถ้าเอาไปทำบุญก็ได้บุญ เอาไปทำทานก็ได้ทาน เอาไปแจกผู้ประสบภัยพิบัติก็เป็นความมีน้ำใจ เอาไปให้พ่อแม่ก็เป็นความกตัญญู ทำให้ชาวบ้านเกิดในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม มีความดีงามเกิดขึ้นในครอบครัวและชุมชนด้วย ขณะที่ นายวิทยา มุลน้อยสุ นายอำเภอน้ำยืน ได้เปิดเผยว่า “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลเก่าขาม (CLM )โคกหนองนา อาชวินโมเดล แห่งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาชุมชน และ ใช้เรียนรู้ในการพัฒนาชุมชนให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในชุมชนมีความรักสามัคคี เป็นสังคมแห่งความเกื้อกูล เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ซึ่งเป็นการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสืบสาน รักษา ต่อยอด และสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในการพึ่งตนเองและสร้างทางรอดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ เป็นการผสมผสานทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านให้สอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ และจะช่วยให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ โอกาสนี้ ขอขอบคุณ ทุกท่าน ที่ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมดีๆ ร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชา และแนวพระราชดำริ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในครั้งนี้ สำหรับประเพณีลงแขกดำนา เป็นประเพณีไทยอีกอย่างหนึ่งของชาวนาไทย เนื่องจากสภาพปัจจุบัน ชาวอีสานส่วนใหญ่ จะเป็นผู้มีน้ำใจไมตรี ดังนั้นในการทำกิจการ งานใดๆ ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะทุกคนต่างมีน้ำใจให้กันและกัน ช่วยงานกันคนละมือละไม้ใช้เวลาไม่นานงานก็สำเร็จลุล่วงไปได้สมปรารถนา การทำงานแบบนี้ คนอีสานเรียกว่า “หาหมู่” การหาหมู่ในภาคอีสานก็คือการบอกกล่าวขอแรงบรรดาญาติสนิทมิตรสหาย ให้มาช่วยทำงานนั่นเอง งานที่จะลงแขกกันนั้นอาจจะเป็นงานส่วนรวมหรืองานส่วนตัวก็ได้ สำหรับงานส่วนตัวนั้นส่วนมากมักจะเป็นงานใหญ่สุดกำลังคนในครอบครัวจะทำได้ หรืออาจจะเป็นงานหนักแต่จำเป็นต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว จึงต้องบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยเหลือเพื่อให้งานเสร็จสิ้นไป งานที่มักหาหมู่ เช่น การหาหมู่ทำนา ซึ่งมีการหาหมู่ดำนา หาหมู่เกี่ยวข้าว หาหมู่ตีข้าว นวดข้าว เป็นต้น” ด้าน นางสาวนันท์นภัส สุวรรณา พัฒนาการ อำเภอน้ำยืน ได้พบปะกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า “ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มาร่วมกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี และน้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 และร่วมจัดกิจกรรมจิตอาสาเอามื้อสามัคคี “ปลูกพืชสมุนไพร ต้านภัยโควิด และดำนา จับปลาขี้คราด” แปลงโคกหนองนา อาชวินโมเดล ในครั้งนี้ สำหรับการหาหมู่ดำนาในครั้งนี้ เป็นการใช้แรงงานเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ ในชุมชน เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวม ทำให้ชุมชนสามารถจัดการความเป็นส่วนรวมมิติต่างๆ ด้วยกันได้ ทั้งสภาพแวดล้อม การผลิต การสร้างสังคม ตลอดจนเป็นแหล่งประสบการณ์ ให้การเรียนรู้และสร้างสมภูมิปัญญาไปด้วย ในส่วนของสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรมการพัฒนาชุมชนได้มีการส่งเสริม ให้มีการปลูกกระชาย ขิง ฟ้าทะลายโจร ยังถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันโควิด-19 และบรรเทาอาการเบื้องต้นของไข้หวัด หรือป้องกันการติดเชื้อได้ โดยพบว่าสารสกัดของกระชายขาว สามารถแสดงฤทธิ์ในการต้านไวรัสทั้งในระยะก่อนและหลังการติดเชื้อนอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้การรับรองแล้วว่ามีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ โดยให้รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ วันละ 180 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย จะเห็นได้ว่าสมุนไพรไทยมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์อย่างมากมายจนทั่วโลกให้การยอมรับ จึงเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถนำมาช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนรอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เป็นอย่างดี สุดท้ายนี้ ขอฝากให้ทุกท่านได้ร่วมกันสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร ให้เกิดความต่อเนื่อง เป็นทั้งอาหารและยารักษาโรคต่างๆ หลายโรค รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน